2553-12-31

วิธีฝึกญาณแบบง่ายๆ


วิธีฝึกญาณแบบง่ายๆ
 
                ญาณ คือ ความหยั่งรู้ ถ้าแปลตามตรงจะแปลว่า ชิน ความหมายจึงต้องหาคำตอบว่า หยั่งรู้อะไร ชินอะไร ถ้าเอาง่ายๆ กำหนดลมหายใจ ก็หยั่งรู้ลมหายใจ ชินในลมหายใจ ถ้าฝึกกสินโดยการเพ่งมองวัตถุสีแดง ก็หยั่งรู้ในสีแดง ชินในสีแดง ถ้าอย่างนั้น หยั่งรู้ หรือ ชินแปลว่าอะไร ก็แปลว่า มีสติรับรู้แต่ลมหายใจ หรือสีแดงที่เพ่ง (จ้อง) ไม่รับรู้ถึงอย่างอื่น
                ทำอย่างไรญาณจึงเกิด เมื่อความรู้สึกชิน หรือหยั่งรู้เกิดขึ้นด้วยอำนาจสติเพียงฝ่ายเดียว ปราศจากการรับรู้ในเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น เช่น หายใจเข้าลมกระทบที่จมูกสติก็รับรู้ว่าลมกระทบที่จมูก จากนั้นลมไปกระทบที่อก สติก็รับรู้ว่าลมกระทบที่อก จากนั้นลมไปกระทบที่ศูนย์กลางเหนือสะดือ สติก็รับรู้ว่าลมไปกระทบที่ศูนย์กลางเหนือสะดือ สติแม้รับรู้ว่าหูได้ยินอะไร จมูกได้กลิ่นอะไร ก็ไม่ยอมสนใจที่จะรับรู้เพราะสติสนใจแต่เพียง ลมหายใจที่กระทบเท่านั้น จนในที่สุดสติก็รับรู้เพียงแค่ลมหายใจแต่อย่างเดียวจนชิน ญาณจึงเกิด

                ข้อสังเกตที่ญาณเกิด คือ
1. อารมณ์เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เราทำสมาธิอยู่
2. เกิดความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข ไม่อยากออกไปจากสิ่งที่เราสนใจอยู่ในขณะนั้น
3. เกิดความรู้สึกรับรู้เพียงแต่สิ่งที่เรากำหนดเป็นสมาธิเท่านั้น ถ้ากำหนดการหายใจ ก็รับรู้ว่าลมหายใจนั้นสั้นหรือยาว เป็นต้น
4. ถ้ามีคำภาวนาก็จะรับรู้ในคำภาวนา เช่น คำภาวนานั้นสั้น หรือ ยาว เช่น หายใจเข้าว่า พุธ ก็รู้สึกคำว่าพุธยาวหรือสั้น เป็นต้น
5. มีชัยนะเกิดขึ้น เรียกว่า ปิติ ซึ่งต่างจากข้อ 2 ที่อารมณ์เป็นสุข ในสุขคืออารมณ์ในใจไม่เกี่ยวกับ อารมณ์ทางกาย ถ้าอารมณ์ทางกาย เรียกว่า ปิติ จะมีอาการแสดงออกทางกาย เช่น ตัวโยกคลอน น้ำหูน้ำตาไหล เป็นต้น ให้สังเกตุ

                ง่ายๆ ว่ามีการแสดงออกทางกายเกิดขึ้นเองโดยไม่ได้บังคับมันก็เกิดขึ้นมาเอง แต่ถ้ารู้สึกอารมณ์ทางใจเรียกว่า สุข ถ้ามีการแสดงออกพร้อมกันทั้ง 5 อย่างนี้ เรียกว่า ญาณได้เกิดขึ้นมาแล้ว

                วิธีการฝึกสมาธิให้เกิดญาณ
1. ก่อนฝึกสมาธิให้คิดก่อนว่าเราจะกำหนดรับรู้อะไร ให้ยึดเอาสิ่งนั้นมาฝึก และฝึกจนกว่าจะสำเร็จ อย่าเปลี่ยนการกำหนด เพราะจะต้องเป็นการเริ่มต้นใหม่
2. สิ่งที่เราจะเอามากำหนด ต้องดูก่อนว่าเราชอบแบบไหน ถ้าชอบความสวยงาม ให้เพ่งรูปศพ เรียก อสุภะกรรมฐาน ถ้าชอบโกรธ ชอบพยาบาท ให้เพ่งวัตถุสีแดง เรียกว่าให้เอาสิ่งตรงข้ามกับความรู้สึกที่ชอบมาเป็นตัวกำหนดสมาธิ
3. เมื่อฝึกครั้งแรกจะนั่ง จะนอน จะเดิน จะยืนก็ไม่ต้องไปสนใจ ชอบท่าไหนเอาท่านั้น
4. กำหนดครั้งแรกอย่าเพิ่งกำหนดสมาธิสู่สิ่งทีตนเองจะฝึก ให้คิดก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังโกรธใครอยู่ไหม จากนั้นให้ละจากสิ่งนั้นออกมาก่อน ถ้าละออกมาไม่ได้ก็อย่าเพิ่งฝึก
5. จากนั้นให้คิดต่อไปว่าเรากำลังหลงอะไรอยู่ไหม ถ้าหลงอยู่ให้ละออกมาจนกว่าจะได้ ถ้าไม่ได้อย่าฝือนฝึก
6. จากนั้นให้คิดต่อไปว่าเรากำลังง่วงนอนไหม อ่อนเพลียไหม อดทนได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งฝึก
7. จากนั้นให้คิดต่อไปอีกว่าสิ่งที่เราจะฝึกนี้ คือ สมาธิ ใครเป็นอาจารย์ อาจารย์คือพระพุทธเจ้า เราต้องมีศรัทธา มีความเคารพ ถ้าปรามาทแล้ว หรือไม่เคารพก็อย่าฝึก
8. จากนั้นให้คิดต่อไปว่าสิ่งที่เราจะฝึกนี้ เรียกว่า ญาณสมาธิ มันมีอยู่จริง ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องเท็จก็อย่าฝึก
9. จากนั้นให้ทำใจให้ว่าง ตั้งสติโดยคิดว่า ต่อแต่นี้เราจะสนใจอยู่ที่สิ่งที่เราจะฝึกสมาธิเท่านั้น หากเกิดอะไรขึ้นก็ตามแม้ตัวตายไปก็จะไม่สนใจในสิ่งอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่เราฝึกเลย
10. เมื่อตั้งสติได้ตามข้อ 9 แล้วให้กำหนดภาวนาในสมาธินั้นแต่อย่างเดียว อย่าสนใจเรื่องอื่น
 

               
                ปัญหาเกิดเมื่อขณะฝึกไม่เกี่ยวกับนิวรณ์ 5
1. อารมณ์ซ่านออกไปสนใจเรื่องอื่น ไม่ยอมรับรู้สิ่งที่เรากำหนดภาวนา วิธีแก้ ให้เราหยุดภาวนา และหยุดสนใจสิ่งรับรู้อื่นนั้น แล้วหายใจลึกๆ แล้วท่องว่า ว่าง หรือ หยุด จนเมื่อสมองโล่ สติมาอยู่กับตัวแล้วให้กำหนดองค์ภาวนานั้นต่อ
2. เกิดภาพแปลกๆ เกิดนิมิตรแปลกๆ ภายในใจ จนทำให้ไม่สนใจในองค์สมาธิ ข้อนี้รวมทั้งอาการสุขทางใจ หรือ ปิติทางกาย เกิดขึ้นด้วย วิธีแก้ให้เลิกสนใจในอาการที่เกิดนอกเหนือจากองค์ภาวนา เช่น ภาพนิมิตรเกิดขึ้น เราต้องคิดว่ามันจะหายไปก็ช่างมัน มันจะเกิดก็ช่างมันเราไม่สนใจ ไม่เอาจิตไปรับรู้มัน หรืออาการปิติรู้สึกตัวจะลอยขึ้นชนเพดาน เราก็คิดว่าจะชนก็ช่าง เราจะตายก็ช่าง เราไม่สนใจ มากำหนดองค์ภาวนาต่อ

                เมื่อสำเร็จตามนี้เรียกว่าเข้าสู่ ปฐามญาณ หรือ ญาณขั้นที่ 1 อย่าไปคิดว่าเราสำเร็จแล้ว ได้ดีแล้ว เพราะความจริง คนอื่นเขาสำเร็จกันเยอะ และเป็นแค่ปฐมญาณ ยังมีญาณขั้นสูงกว่านี้ เหนือฟ้ายังมีฟ้า.. ให้ฝึกต่อไปจนกว่าจะชิน จนเป็นวสี แปลว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน สถานที่ไหน แค่เรากำหนดภาวนา เราก็เข้าองค์ญาณได้ทันที เดี๋ยวนั้น ไม่ต้องใช้เวลาเท่านั้น เท่านี้ เพื่อให้จิตเรารับรู้แต่องค์ภาวนา