2553-10-02

การอุทิศผลบุญ


 

กรวดน้ำ
กรวดน้ำ คือ การตั้งใจอุทิศส่วนบุญกุศลที่เราได้ทำไว้แล้วไปให้แกู่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งรินน้ำให้ไหลลงไปที่พื้นดินหรือที่รองรับ แล้วเอาไปเทที่พื้นดินอีกต่อหนึ่ง หรือรดที่โคนต้นไม้ก็ได้ 

เพื่อให้จำง่ายไม่สับสน จึงขอแยกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
  1.กรวดน้ำ มี 2 วิธี คือ 
     กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย 
     กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนม อธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้ 
  2.การอุทิศผลบุญมี 2 วิธี คือ 
    อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น พ่อ..แม่..ลูก..หรือใครก็ได้ 
    อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวม ๆ กันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นต้น
   ทางที่ถูก ควรทำทั้งสองวิธี คือ ผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจงที่เหลือก็อุทิศรวม ๆ 
  3.น้ำกรวด ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในที่สะอาดหรือไปเทในที่สะอาด อย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก  
  4.น้ำเป็นสื่อ - ดินเป็นพยาน การกรวดน้ำมิใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยานให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ 
  5.ควรกรวดน้ำตอนไหน  ควรกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนา แต่ถ้าไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นดีกว่าด้วยเหตุ 2 ประการ คือ 
 - ถ้ามีเปรตญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที 
 - การรอไปกรวดที่บ้าน หรือกรวดภายหลังบางครั้งอาจลืมไปผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งจะให้ก็ชวดไปด้วย 
  6.ควรรินน้ำ้ำตอนไหน  ควรเริ่มรินน้ำพร้อมกับตั้งใจอุทิศในขณะที่พระผู้นำเริ่มสวดว่า "ยะถา วาริวะหาปูรา.." และรินให้หมดในเมื่อพระว่ามาถึง "...มะณิโชติระโส ยะถา..."  พอพระทั้งหมดรับพร้อมว่้า "สัพพีติโย วิวัชชันตุ.." เราก็พนมมือรับพรท่้านไปจนจบ จึงจะถือว่าถูกต้อง 
  7.ถ้ายังว่าบทกรวดน้ำไม่เสร็จ จะทำอย่างไร ก็ควรใช้บทกรวดน้ำที่สั้น ๆ หรือใช้บทกรวดน้ำย่อก็ได้ เช่น "อิทัง โน ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขออุทิศส่วนบุญนี้จงสำเร็จแ่ก่... (ออกชื่อผู้ล่วง
ลับ) และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด" 
  หรือจะใช้แต่ภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ว่า 
  " ขออุทิศส่วนบุญกุศล ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนี้จงสำเร็จแ่ก่พ่อแม่ ญาติ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้รับส่วนบุญกุศลครั้งนี้โดยเร็วพลัน และโดยทั่วถึงกันเทอญ"
   ส่วนบทยาว ๆ เราควรเอาไว้กรวดส่วนตัว หรือกรวดในขณะทำวัตรสวดมนต์รวมก็ได้
   8.อย่าทำน้ำสกปรก ด้วยการเอานิ้วไปรอไว้ ควรรินให้ไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธีเกาะตัวกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นทางเหมือนเล่นงูกินหาง 
   ถ้าเป็นในงานพิธีต่าง ๆ ให้เจ้าภาพหรือประธาน รินน้ำกรวดเพียงคนเดียว หรือคู่เดียวก็พอ คนนอกนั้น ก็พนมมือตั้งใจอุทิศไปให้ 
   9.การทำบุญและอุทิศส่วนบุญ ควรสำรวมจิตใจ อย่าจิตฟุ้งซ่าน ปลูกศรัทธา ความเชื่อ และความเลื่อมใสให้มั่นคงในจิตใจ ผลของบุญและการอุทิศส่วนบุญย่อมมีอานิสงส์มาก 
   ผลบุญที่เราอุทิศไปให้ ถ้าไม่มีใครมารับก็ยังคงเป็นของเราอยู่ครบถ้วน ไม่มีผู้ใดจะมาโกงหรือแย่งชิงเอาไปเลย 
  10.บุญเป็นของกายสิทธิ์ ยิ่งให้ยิ่งมาก ยิ่งตระหนี่ยิ่งน้อย ยิ่งอุทิศให้คนอื่นหมดเลย เราก็ยิ่งจะได้บุญหมดเลย